หนังสือเรียนภาษาไทย มานี มานะ



ไม่แน่ใจว่าเด็กรุ่นใหม่นี้จะยังรู้จักตัวละคร มานี มานะ ชูใจ ปิติ ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยกันอยู่หรือเปล่า เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ดิฉันเชื่อว่าสำหรับเด็กประถมเมื่อสมัย 20 กว่าปีถึง 30ปีที่แล้วจะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะตามหน้าปกบอกว่าหลักสูตรปี 2521 (ตอนนั้นยังไม่เกิดเลย อิอิ)

เมื่อลองอ่านหนังสือแบบเรียน(ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากเหล่าอัพโหลดเดอร์ทั้งหลาย)ดูแล้ว ดิฉันยอมรับว่าเป็นหนังสือประกอบการเรียนที่สนุกมาก เหมือนอ่านนิยายสำหรับเด็กเลย แต่เป็นนิยายที่สอดแทรกคำสอนและความรู้ต่างๆเอาไว้อย่างแนบเนียน ตัวละครต่างๆดูมีชีวิตชีวา และมีบุคลิกต่างๆกันไป มีทั้งเรื่องราวการดำเนินชีวิตประจำวัน มิตรภาพระหว่างเพื่อน ความรู้รอบตัว รวมไปถึงวรรณคดีไทยต่างๆ ซึ่งนับได้ว่าผู้แต่งแบบเรียนเก่งมากๆ ที่สามารถแต่งหนังสือเรียนออกมาได้สนุกได้ขนาดนี้



เรื่องราวในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยทั้ง 12 เล่มจะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันไป และพัฒนาความซับซ้อนของเนื้อหาไปตามลำดับ ตัวละครหลักๆ ก็น่าจะมี มานี มานะ ชูใจ ปิติ วีระ รองลงไปก็เป็น พ่อแม่ ย่า ลุง เพื่อนๆของพวกเขาอย่าง เพชร สมคิด ดวงแก้ว จันทร และคนอื่นๆอย่างคุณครูไพลิน เกษตรอำเภอทวีป ที่ขาดไม่ได้ก็เป็นบรรดาสัตว์เลี้ยงต่างๆ อย่าง เจ้าโตซึ่งเป็นหมาคู่ใจของมานี สีเทาแมวของชูใจ ม้าของปิติชื่อเจ้านิล(ก่อนหน้านี้ปิติมีม้าชื่อเจ้าแก่) เจ้าจ๋อลิงของวีระ ซึ่งจะมาช่วยสร้างสีสัน(และเสียงหัวเราะ?)ให้กับเรื่องราวในหนังสือ

บุคลิกของตัวละครก็มีหลากหลาย แต่ที่ดิฉันชอบมากที่สุดก็คือมานี เพราะถือเป็นเด็กดีในอุดมคติมากๆ คือเป็นคนดี มีน้ำใจ รักเพื่อน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือ เรียกได้ว่าสารพัดความดีจะอยู่ที่มานีเกือบทั้งหมด และตัวละครอีกตัวหนึ่งที่ชอบก็คือ ชูใจ ซึ่งผู้เขียนสร้างลักษณะของชูใจให้มีลักษณะที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบตรงข้ามกับมานี เพราะชูใจไม่มีพ่อแม่ อยู่กับย่าและอา ไม่เหมือนกับมานีที่มีครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอบอุ่น แต่ชูใจไม่เคยเอาเรื่องที่ตัวเองไม่ได้สมบูรณ์แบบมาเป็นเหตุผลในการทำตัวไม่ดี ตรงกันข้ามกลับเป็นคนที่สู้ชีวิตและมีความกตัญญู
เด็กทั้งสองคนนี้จะมีลักษณะที่เหมือนกันคือความเป็นเด็กดี(มากๆ) ตลอดทั้งเรื่องจะไม่ได้เห็นมานีและชูใจซนหรือทำเรื่องแผลงๆ จะออกไปในแนวเด็กเรียน เรียบร้อย ชอบทำกิจกรรม ชอบช่วยเหลือคนอื่น ช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน เหมือนหนังสือจะบอกเป็นนัยๆว่า ถ้าอยากเป็นที่รักของพ่อแม่ครูบาอาจารย์และคนรอบข้างต้องทำตัวดีๆแบบนี้นะจ๊ะ แต่ดิฉันก็ชอบทั้งสองคนนี้ค่ะ แม้ว่าตัวเองจะไม่มีคุณสมบัติอย่างที่มานีและชูใจเป็นอยู่เลยก็ตาม เหมือนที่เค้าว่าคนที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกันจะดึงดูดกัน 555

คนอื่นๆอย่างวีระ มานะ ปิติ ก็ถือว่าเป็นเด็กดีเหมือนกัน เพียงแต่ด้วยความที่เป็นเด็กผู้ชายก็เลยต้องมีเรื่องราวเล่นซน หรือผจญภัยกันบ้าง วีระและมานะจะไม่ค่อยเท่าไหร่ ดูเหมือนผู้เขียนจะวางให้ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ใหญ่ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีและคอยดูแลน้องๆ ปิติเสียอีกที่อาจจะออกนอกกรอบบ้าง เช่น แกล้งหลอกยายว่ามีดบาดมือ จนทำให้ยายต้องเล่านิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะเป็นการสอนใจ ซึ่งดิฉันรู้สึกว่าปิติไม่ได้ทำเรื่องไม่ดีต่างๆด้วยความตั้งใจ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง แต่เขาก็มีทั้งยาย และเพื่อนๆอย่างวีระ และมานะ คอยช่วยเตือนช่วยสอน ซึ่งปิติก็ยอมรับคำสอนเหล่านั้นและนำมาปรับปรุงข้อบกพร่องของตนเอง

ตัวละครที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งก็คือ เพชร ซึ่งมีเรื่องราวชีวิตที่มีสีสันมาก ถือเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมคือเริ่มมาจากเกือบติดลบ ครอบครัวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือ จนกระทั่งได้มาพบกับความเมตตากรุณาของลุงของวีระ และด้วยความขยันอดทนที่เป็นคุณสมบัติติดตัวมา ชีวิตความเป็นอยู่ของเพชรและครอบครัวจึงดีขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันชอบอ่านตอนของเพชรเพราะชีวิตของเพชรมักจะได้ผจญภัยอยู่เรื่อยๆ 555 ซึ่งผู้เขียนคงจะเข้าใจนิสัยของเด็กๆว่ามีความอยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย จึงได้แต่งเรื่องราวของเพชรให้ออกมาน่าตื่นเต้นสลับกับเรื่องราวของตัวละครอื่นๆที่ค่อนข้างจะราบเรียบ

ดิฉันขอรีวิวเรื่องราวคร่าวๆของหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ฉบับมานีมานะเพียงแค่นี้ก่อนค่ะ หากใครสนใจอยากรู้ว่าสนุกขนาดไหน ลองโหลดไปอ่านดูได้นะคะ
ขออภัยที่ไม่ได้ใส่เครดิตค่ะเพราะลืม ขอโทษๆๆๆๆๆผู้เผยแพร่จริงๆ วันหลังจะพยายามไม่ลืมนะคะ



หนังสือเรียนภาษาไทย ป.1 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.1 เล่ม 2
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.2 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.2 เล่ม 2
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.3 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.3 เล่ม 2
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.4 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.4 เล่ม 2
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.5 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.5 เล่ม 2
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.6 เล่ม 1
หนังสือเรียนภาษาไทย ป.6 เล่ม 2